วิธีแบ่งแยกบุคคล
บุคคลไม่ได้เป็นคนเลวเพราะชาติ ไม่ได้เป็นผู้ประเสริฐเพราะชาติกำเนิด แต่เป็นคนเลวทรามเพราะกรรม เป็นผู้ประเสริฐก็เพราะกรรมเท่านั้น
นิยามหรือผังของสรรพสิ่ง
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่ว่าพระตถาคตทั้งหลาย จะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม ธาตุคือสิ่งที่ทรงตนเองอยู่ได้เอง ความตั้งอยู่โดยธรรมดา ความแน่นอนโดยธรรมดาอันนั้น ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ครั้นได้ตรัสรู้แล้ว ได้หยั่งรู้แล้ว จึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
พุทธพยากรณ์ ๑
พระพุทธชินเจ้ามีพระวาจาไม่เป็นสอง มีพระวาจาไม่เปล่าประโยชน์ พระพุทธเจ้าไม่ตรัสคำไม่จริง เราจักได้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน เปรียบเหมือนก้อนดินที่โยนขึ้นไปบนอากาศ ย่อมตกลงมาสู่พื้นดินอย่างแน่นอน
วิธีการดำเนินชีวิตแบบอริยะ
นรชนเมื่อคำนึงถึงเหตุนี้ว่า เราได้ใช้จ่ายโภคทรัพย์เลี้ยงตนแล้ว ได้ใช้จ่ายโภคทรัพย์เลี้ยงคนที่ควรเลี้ยงแล้ว ได้ผ่านพ้นภัยที่เกิดขึ้นแล้ว ได้ให้ทักษิณาอันมีผลอันเลิศแล้ว ได้ทำพลีกรรม ๕ ประการแล้ว และได้บำรุงท่านผู้มีศีล สำรวมอินทรีย์ ประพฤติพรหมจรรย์แล้ว บัณฑิตผู้อยู่ครองเรือน พึงปรารถนาโภคทรัพย์เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นเราก็ได้บรรลุแล้ว เราได้ทำสิ่งที่ไม่ต้องเดือดร้อนแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้ดำรงอยู่ในธรรมของพระอริยเจ้า
วิธีทำบุญให้ถูกหลักวิชชา
กุลบุตรเมื่อหวนระลึกถึงอุปการคุณที่ท่านทำแล้วในกาลก่อนว่า คนโน้นได้ให้สิ่งของแก่เราแล้ว คนโน้นได้ทำอุปการคุณแก่เราแล้ว ญาติมิตร และสหายได้ให้สิ่งของแก่เรา และได้ช่วยทำกิจของเรา ดังนี้ พึงให้ทักษิณาทานแก่เปรตทั้งหลาย
วิธีแก้กิเลสในตัว
กุสลา ธมฺมา ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล ให้ผลเป็นความสุข อกุสลา ธมฺมา ธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศล ให้ผลเป็นความทุกข์ อพฺยากตา ธมฺมา ธรรมทั้งหลายที่เป็นอัพยากตา ให้ผลเป็นกลางๆ ไม่สุขไม่ทุกข์
ผู้รักในการทำความดี
ผู้มีปัญญา ทำกุศลอยู่คราวละน้อยๆ ทุกๆ ขณะโดยลำดับ พึงกำจัดมลทิน คือกิเลสของตนได้ เหมือนช่างทองขจัดมลทินของทองให้หมดไปได้ฉะนั้น
ขออย่างพระอริยเจ้า
ผู้มีปัญญาทั้งหลาย จะไม่ออกปากขอเลย ธีรชนควรรู้ไว้ พระอริยเจ้าทั้งหลาย ยืนเฉพาะเจาะจงอยู่ที่ใด นั่นคือการขอของพระอริยเจ้าทั้งหลาย
ตัณหาไม่สิ้นสุด
โลกอันตัณหาย่อมนำพาไป อันตัณหาย่อมผลักไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอย่างหนึ่ง คือตัณหา บัณฑิตพึงรู้โทษของตัณหาว่า เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ พึงเป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่ถือมั่น มีสติอยู่ทุกเมื่อ
สำรวมอินทรีย์นำชีวีพ้นทุกข์
ก็ผู้ใด รู้ไม่เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน ผู้นั้นย่อมตกอยู่ในอำนาจของศัตรู และจะเดือดร้อนในภายหลัง ส่วนผู้ใด รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน ผู้นั้นก็จะพ้นจากการเบียดเบียนของศัตรู เหมือนไก่พ้นจากกรงเล็บของแมว ฉะนั้น